ประวัติความเป็นมาของคณะวิทยาการจัดการ

 

          หลังจากที่กรมการฝึกหัดครูได้เสนอพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2527 ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอปรับบทบาทวิทยาลัยครูให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาสาขาต่างๆ สนองความต้องการในการพัฒนาสังคม โดยการผลิตบุคลากรในสาขาวิชาการอื่นทดแทนการลดปริมาณการผลิตครูตามนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน  ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2527 โดยกำหนดให้วิทยาลัยครูเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาสาขาวิชาอื่นตามความต้องการของท้องถิ่น  ตามมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูฉบับที่ 2 ปี พ.ศ. 2527 ซึ่งมีผลให้วิทยาลัยครูเปลี่ยนบทบาทใหม่จากที่เคยผลิตบุคลากรสายครูมาอย่างต่อเนื่อง หันมาเปิดสอนในสายวิชาชีพเพิ่มขึ้นอีกศาสตร์หนึ่ง

 

ในการวางรากฐานการบริหารและการจัดการเรียนการสอนสายวิทยาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการราชภัฏนครศรีธรรมราช  ได้มีการพัฒนาการตามลำดับต่อไปนี้

 พ.ศ. 2528       สถาบันจัดตั้งหน่วยงานรองรับ คณะวิทยาการจัดการ ณ อาคาร 3 ชั้น 2 พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรสายครูสนองหลักสูตรสายวิชาชีพเป็นการเร่งด่วน ในสาขาวิชาเอกการสหกรณ์ การคณะงาน และวารสารศาสตร์และการประชาสัมพันธ์ ภายใต้การบริหารงานของนายเชาวน์ ทับทิมทอง หัวหน้าคณะวิทยาการจัดการ โดยเปิดสอนหลักสูตรอนุปริญญา 2 ปี ภาคปกติ

พ.ศ. 2529       สถาบันยุบโครงการให้การศึกษาและฝึกอบรมครูและบุคลากรการศึกษา ประจำการ (อคป.) เปิดสอนโครงการใหม่ คือ โครงการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) ขึ้น คณะวิทยาการจัดการได้เปิดหลักสูตรอนุปริญญา วิชาเอกการสหกรณ์ ภาค กศ.บป. ร่วมโครงการปีนี้ด้วย แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวิชาเอกเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ และพัฒนาการเรียนการสอนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เปิดสอนหลักสูตรวารสารศาสตร์และการประชาสัมพันธ์ ทั้งภาคปกติ และภาค กศ.บป. (แต่หลักสูตรนี้ในภาคปกติยุบเลิกไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537)

พ.ศ. 2532       เปิดสอนหลักสูตรใหม่ 1 หลักสูตร คือ การจัดการทั่วไป ภาคปกติ และเปิดสอนภาค กศ.บป. เมื่อ พ.ศ.2534 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2533       เปิดสอนหลักสูตรใหม่ 1 หลักสูตร คือ การบริหารธุรกิจ อนุปริญญา 2 ปี ทั้งภาคปกติ และภาค กศ.บป. และพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2534       เปิดสอนหลักสูตรใหม่ 1 หลักสูตร คือ นิเทศศาสตร์ 4 ปี โดยเริ่มเปิดสอนภาค กศ.บป. ส่วนภาคปกติ เปิดสอนปี 2535

พ.ศ. 2537       เปิดสอนหลักสูตรใหม่ 1 หลักสูตร คือบริหารธุรกิจหลักสูตร 4 ปี ภาคปกติ ส่วนภาค กศ.บป. เปิดสอนในปี 2542

พ.ศ. 2542       เปิดสอนหลักสูตรใหม่ 1 หลักสูตร คือเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ 4 ปี ทั้งภาคปกติ และ กศ.บป.

พ.ศ. 2544       เปิดสอนหลักสูตรใหม่ 3 หลักสูตร คือ การจัดการ ระดับอนุปริญญา  และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาธุรกิจบริการ หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ภาคปกติ และหลักสูตร 2 ปีหลังอนุปริญญา ภาค กศ.บป.

พ.ศ. 2546       เปิดหลักสูตรใหม่ 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรการบัญชี ระดับปริญญาตรี 4 ปี ภาคปกติ และหลักสูตร 2 ปี หลังอนุปริญญา ภาค กศ.บป. และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ภาคปกติ 2 ปีหลังอนุปริญญา

พ.ศ.2550        เปิดหลักสูตรใหม่ 1 หลักสูตร คือ เศรษฐศาสตรบัณฑิต ระดับปริญญาตรี 4 ปีภาคปกติ

พ.ศ.2551      เปิดหลักสูตรใหม่ 2 หลักสูตร คือ บริหารธุรกิจบัณฑิต ระดับปริญญาตรี 4 ปี ภาคปกติ  และภาค กศ.บป. สาขาวิชาการจัดการ  สาขาวิชาบริหารธุรกิจ วิชาเอกการตลาด และวิชาเอกการบริหารทรัพยากรมนุษย์และการเป็นผู้นำ

พ.ศ.2554        เปิดหลักสูตรใหม่นิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการจัดการสื่อสารแบบบูรณาการ

พ.ศ.2555        เปิดหลักสูตรใหม่ บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และสาขาการจัดการโรงแรม

พ.ศ.2558        เปิดหลักสูตรใหม่ บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาธุรกิจค้าปลีก

พ.ศ. 2560      หลักสูตรปรับปรุงตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2558 จำนวน 9 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการตลาด, หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการบริหารทรัพยากรมนุษย์, หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ, หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการอุตสาหกรรมบริการ, หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ, หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจค้าปลีก, หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต, หลักสูตรบัญชีบัณฑิต, หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต


            การดำเนินงานการจัดการเรียนการสอนของคณะวิทยาการจัดการ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริหารคณะวิทยาการจัดการได้รับช่วงสืบสานเจตนารมณ์ในการพัฒนาคณะมาตามลำดับ
            ผู้บริหารแต่ละสมัยทำหน้าที่บริหารงาน พัฒนาการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร เครื่องมือเครื่องใช้และอุปกรณ์การเรียนการสอน ตลอดจนอาคารสถานที่ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด
            การเปิดหลักสูตรในแต่ละสาขาวิชา สาขาวิชาที่เปิดสอนเป็นความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งมีตัวบ่งชี้แสดงให้เห็น คือ แต่ละปีมีนักศึกษาให้ความสนใจสมัครเรียนในหลักสูตรสังกัดคณะวิทยาการจัดการเป็นจำนวนมาก ทั้งภาคปกติ และภาค กศ.บป.